ตามเป้าหมายของ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 เรื่อง หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งได้รับฉันทมติจากทุกภาคส่วนในสังคมว่าประเทศไทยมีความจำเป็น และมีความพร้อมที่จะดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม ดังนี้ 1. การพัฒนาผลิตภาพประชากร เช่น มีนโยบายขยายอายุการเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปี ให้ผู้สูงวัยที่ยังมีศักยภาพในการทำงานสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเพิ่มมาตรการจูงใจผู้ประกอบการ มีการจัดฝึกอบรม Re-Skill / Up-Skill เพื่อเติมองค์ความรู้และทักษะการทำงานที่เหมาะสมให้กับผู้สูงวัย เป็นต้น 2. การออมระยะยาว เช่น ให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพื่อให้เกิดระบบการออมเงินอย่างถ้วนหน้า เพิ่มปริมาณการออมภาคสมัครใจ โดยยกระดับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จูงใจให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่อายุไม่มากเพื่อได้รับเงินตอบแทนในบั้นปลายที่มากขึ้น รวมไปถึงการทำพันธบัตรป่าไม้ โดยนำพื้นที่มาปลูกไม้ยืนต้น และนำต้นไม้ไปขายเป็นพันธบัตรกับนักลงทุนในต่างประเทศได้ ตลอดจนแนวคิดการขายคาร์บอนเครดิตในแรงงานภาคการเกษตร เป็นต้น 3. เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ เช่น นโยบายเงินบำนาญผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท และเพิ่มขึ้นตามระดับอายุตามภาระการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น นโยบายการให้เงินผ่าน Digital Wallet สำหรับทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจะได้รับ 10,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายร้านค้าใกล้บ้านภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเพิ่มเม็ดเงินในการหมุนเวียนเศรษฐกิจ การจัดสรร งบประมาณเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงวัยให้บ้านละ 5 หมื่นบาท รวมถึงการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านหรือธนาคารชุมชน ด้วยเงินหมุนเวียนแห่งละ 2 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขในการนำเงินไปใช้เพื่อการประกอบอาชีพ เป็นต้น 3. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ และ Long-term care เช่น ปฏิรูปให้เกิดความชัดเจนโดยแยกระบบดูแลสุขภาพออกจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปอยู่ภายใต้การบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แห่งเดียว การตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาวโดยให้คนละ 9,000 บาทต่อเดือน ยกระดับการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในทั่วประเทศ โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหัวใจหลัก การให้กรมธรรม์ประกันชีวิตจำนวน 1 แสนบาทกับผู้สูงวัยทุกคน พร้อมเป็นแหล่งเงินที่สามารถกู้ยืมมาใช้ในระหว่างดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นต้น 4. การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น เช่น นโยบายการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุในทุกหมู่บ้าน โดยมีเงินอุดหนุนปีละ 3 หมื่นบาท วางเป้าหมายสร้างอาสาสมัครบริบาลในท้องถิ่น รวม 1 แสนอัตรา เพื่อมาช่วยดูแลผู้ป่วยติดเตียง การจัดตั้งสถานชีวาภิบาลเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น เป้าหมายเพื่อนำไปสู่ 'ระบบหลักประกันรายได้' ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่ 1. การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และมีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย 2. การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน 3. เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ 4. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care) 5. การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น ***ข้อเสนอโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
This content is created by the open source Your Priorities citizen engagement platform designed by the non profit Citizens Foundation